วันที่ 8 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดทั่วประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมบังคับคดีโดยนายเสกสรร สุขแสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมบังคับคดี นางเพ็ญรวี มาแสง รองอธิบดีกรมบังคับคดี และนางรุ่งนที ไชยสง่าศิลป์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผน เข้าร่วม ณ ห้องรอยัลจูบิลี บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่เคยแถลงไว้เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 กำหนดให้ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ” เพื่อเร่งแก้ไขปัญหานี้ให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่สูงเกินอัตรากำหนดอย่างไม่เป็นธรรม การทวงถามหนี้ที่มีลักษณะคุกคามขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งเป็นการช่วยให้ประชาชนเป็นอิสระ หลุดพ้นพันธนาการจากหนี้นอกระบบ การค้าทาสยุคใหม่หมดไปจากประเทศไทย ด้วยการบูรณาการทำงานประสานงานร่วมกันของหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตั้งแต่ขั้นตอนการรับเรื่อง การช่วยเหลือด้านการไกล่เกลี่ย การบังคับทางกฎหมาย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประชาชนสามารถพลิกฟื้นกลับมาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องหวาดระแวง และมีรอยยิ้มได้โดยทั่วกัน ทั้งนี้ ได้ประกาศเป้าหมายว่า “หนี้นอกระบบจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเด็ดขาด” โดยให้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดตัวชี้วัด KPI ที่เหมาะสมและชัดเจน โดยต้องไม่ใช่การตั้งเป้าหมายที่ “ง่ายเกินไป” จนไม่สามารถวัดผลอะไรได้ และไม่ “ยากเกินไป”จนเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกไม่อยากเริ่มทำ และกำหนดกรอบตัวชี้วัดประกอบด้วย 1. ระยะเวลาดำเนินการในการจับกุมและระยะเวลาการทำสำนวนการสอบสวน 2. สัดส่วนเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และเรื่องที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ร่วมกันทำสัญญาประนีประนอม และ 3. ระยะเวลาในการดำเนินการแต่ละขั้นตอนทั้งในชั้นรับเรื่องร้องเรียนถึงการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและชั้นการทำสัญญาประนีประนอม