วันนี้ (16 มกราคม 2562) เวลา 10.00 น. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี พร้อมด้วยนางอรัญญา ทองน้ำตะโก รองอธิบดีกรมบังคับคดีนางสาวสายรุ้ง มารมย์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี และนางทัศนีย์ เปาอินทร์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี แถลงผลการดำเนินงานของไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามนโยบายกรมบังคับคดีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศใน 5 ด้าน (LED 5 Excellence) ได้แก่ การบริหารจัดการคดี (Case.Management Excellence) การพัฒนานวัตกรรมและระบบการทำงาน (IT.Excellence) การพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Information.Excellence) การเพิ่มศักยภาพบุคลากร (HR.Excellence) และการยกระดับองค์กร (Organization Excellence) เพื่อพัฒนาไปสู่ LED - Thailand 4.0 โดยมีผลการดำเนินงานหลัก ๆ ดังนี้ (1.) ผลการผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบ สามารถผลักดันทรัพย์สินได้เป็นเงินจำนวน 46,274,145,932 บาท คิดเป็นร้อยละ 35.60 ของเป้าหมาย และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ พ.ศ.2561 สามารถผลักดันทรัพย์สินได้สูงกว่า คิดเป็นร้อยละ 44.59 (2.) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี ภายใต้กลยุทธ์การดำเนินการไกล่เกลี่ย “เชิงรุก เชิงลึก และครอบคลุม” มีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ยจำนวน 5,847 เรื่อง ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 5,257 เรื่อง ทุนทรัพย์ 2,072,985,613.28 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 89.91 ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จสูงกว่า คิดเป็นร้อยละ 88.09 (3.) การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในการบังคับคดีแพ่งและบังคับคดีล้มละลาย กรมบังคับคดีได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวนทั้งสิ้น 8 หน่วยงาน ได้แก่ 1. บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด 2. บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 3. ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน) 4. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) 5. กรมที่ดิน และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีกับผู้กระทำความผิดกับสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) (4.) การพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ Mr.Zhao.Dacheng รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมและศึกษาดูงานด้านการบังคับคดีและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางในการปฏิบัติงาน และการนำด้านเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน (5.) การพัฒนาทักษะดิจิทัล กรมบังคับคดีได้รับคัดเลือกเป็นองค์กรนำด้านทักษะดิจิทัล มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ได้เยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของกรมบังคับคดี และเข้าเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกรมบังคับคดี นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการอีกหลายแห่ง ได้เข้าศึกษาดูงานด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล และการสร้างองค์กรดิจิทัล ได้แก่ คณะผู้เข้ารับการอบรม นักบริหารงานยุติธรรม หลักสูตร “อัยการจังหวัด” รุ่นที่ 38 จากสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด และหลักสูตรนักบริหารระดับต้น รุ่นที่ 11 ของกรมชลประทาน (6.) การพัฒนากระบวนการทำงาน กรมบังคับคดีได้เริ่มดำเนินการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์รับ –.ส่ง หนังสือราชการภายในหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 –.28 ธันวาคม 2561 ส่งผลให้กรมบังคับคดีสามารถลดการใช้กระดาษได้ไม่น้อยกว่า 9,084 แผ่น (7.) การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติงานตามกฎหมายใหม่ ร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การบังคับทางปกครอง) เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการบังคับทางปกครองให้ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมยิ่งขึ้น และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติในวาระแรก เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว โดยสาระสำคัญส่วนหนึ่งกำหนดมอบภารกิจใหม่ให้กับกรมบังคับคดีในการบังคับคดีตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี ดังนั้น กรมบังคับคดีจำเป็นต้องหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตามร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว