กรมบังคับคดีร่วมกับศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัล”

17/10/2561
กรมบังคับคดีร่วมกับศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา  คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัล”

 วันนี้ (17 ตุลาคม 2561) กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนาคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยมี และ ผศ. ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต้อนรับ และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวเปิดการประชุม จากนั้นคณะผู้วิจัยได้นำเสนอรายละเอียดโครงการศึกษาวิจัย ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า กรมบังคับคดีซึ่งมีภารกิจหลักในการให้บริการด้านการบังคับคดีแพ่ง การบังคับคดีล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ การชำระบัญชี การวางทรัพย์ และการไกล่เกลี่ยให้ความสำคัญในการศึกษาวิจัยเพื่อนำผลการวิจัยมาพิจารณาพัฒนาและปรับปรุงการบังคับคดีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป ในปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) เป็นที่นิยมแพร่หลาย และนับเป็นทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกประเภทหนึ่ง ที่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจที่จะถือครอง ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่มีราคา กรมบังคับคดีเล็งเห็นความสำคัญในการเตรียมการเพื่อรองรับการบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัล จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและวิจัยการบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเป็นประโยชน์ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล. และปัจจุบันที่มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ในการจำหน่ายสินค้า และการให้บริการ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี Block Chain มาใช้ในธุรกิจการเงินที่เรียกว่า Fin Tech (Financial Technology) ตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในปัจจุบันได้แก่ ระบบการเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) อันเป็นที่มาของสกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin, Ethereum, Ripple, Cardano, Stellar เป็นต้น โครงการศึกษาวิจัยดังกล่าวเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ที่มา ประเภท สิทธิ การครอบครอง ความเป็นเจ้าของ การได้มา(การระดมทุน) การกำกับดูแล การจำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ละรูปแบบ/ประเภท รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อมของสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งบุคคล องค์กร กลไก กระบวนการต่าง ๆ และที่สำคัญ ศึกษาหาแนวทางการบังคับคดีกับสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยว่าจะสามารถบังคับคดีได้หรือไม่อย่างไร และหากบังคับคดีได้ จะดำเนินการบังคับคดีได้อย่างไร ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาวิจัยในสองประเด็นหลัก คือ สินทรัพย์ดิจิทัลและการกำกับดูแล และการบังคับคดีสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งครอบคลุมเรื่องการยึดและอายัดสินทรัพย์ดิจิทัล การเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัล และการจำหน่ายทรัพย์สินตามคำพิพากษา โดยมีการศึกษากฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแคนนาดาเปรียบเทียบ

อัลบั้มรูปภาพ