หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “น้อมนำศาสตร์พระราชาและหลักธรรมาภิบาล เพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืน”

17/8/2561
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “น้อมนำศาสตร์พระราชาและหลักธรรมาภิบาล เพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืน”

 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 เวลา 09.40 น. หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “น้อมนำศาสตร์พระราชาและหลักธรรมาภิบาล เพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืน” ภายในงานการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของเจ้าหนี้และลูกหนี้และมาตรการเยียวยา “การพัฒนาอย่างยั่งยืน : กลไกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน และสิทธิหลักประกัน” โดยกระทรวงยุติธรรมและกรมบังคับคดีจัดขึ้น ณ ห้องกมลทิพย์ บอลรูม โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังประกอบด้วยผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้บริหารจากองค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการ ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารและผู้แทนศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลปกครอง กระทรวงการต่างประเทศ สมาคมธนาคารไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวน 400 คน หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า กระบวนการยุติธรรมถือเป็นกลไกที่สำคัญในการอำนวยความยุติธรรมและเป็นหลักประกันความยุติธรรมแก่คนในสังคม ดังนั้น การพัฒนาหรือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องมีหลักการที่ดีในการเป็นแนวทางในการปฏิรูป โดยศาสตร์พระราชา และหลักธรรมาภิบาลเป็นหลักการที่ควรค่าต่อการน้อมนำมาเป็นแนวทางในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันการเกิดปัญหาล้มละลาย นอกเหนือจากมิติการบริหารจัดการคดีล้มละลายของภาครัฐ หลักในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ได้แก่ 1.) การเข้าใจ เข้าใจปัญหา ศึกษาปัญหาต่างๆที่มีอยู่ ที่เกี่ยวข้องประกอบกับการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม คิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น เพื่อหาวิธีการในการแก้ไขปัญหา 2.) การเข้าถึง ต้องเข้าถึงประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการปัญหานั้นอย่างยั่งยืน และเป็นธรรม แก่ทุกฝ่าย และ3.) การพัฒนา ต้องศึกษา แสวงหาเรียนรู้ในด้านอื่นๆ ทั้งด้านคุณธรรม และจริยธรรม การเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการเรียนรู้ในการเป็นคนดี ถึงจะสามารถนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในสังคมได้อย่างเป็นธรรม การศึกษาถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไปสู่การแก้ไขปัญหา และลดความเหลื่อมล้ำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลักปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นแม่แบบหรือต้นแบบของคนรุ่นใหม่ในการสร้างภูมิคุ้มกัน และเอาชนะปัญหาต่างๆ ทำให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน ทั้งนี้ หลักเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาใช้ควบคู่กับหลักธรรมาภิบาล ในกระบวนการยุติธรรม ผ่านการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส อันเป็นการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ได้หมายความว่า การงดไม่ใช้สิ้นเชิง แต่หมายถึงการใช้ในสิ่งที่มีอยู่ รู้ว่าตนมีอยู่อย่างไร และความต้องการของตนคืออะไร แค่ไหน เพียงใด แล้วจึงใช้ในสิ่งที่มีอยู่อย่างมีภูมิคุ้มกัน เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน ดังนั้น หากการล้มละลายเป็นปัญหาของคนในสังคม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นหลักการตัวอย่างอันทรงคุณค่าในการน้อมนำมาแก้ไขปัญหาได้อย่างดีเยี่ยมและยั่งยืน

อัลบั้มรูปภาพ