วันนี้ (16 สิงหาคม 2561) เวลา 12.15 น. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี แถลงข่าวการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของเจ้าหนี้และลูกหนี้ และมาตรการเยียวยา “การพัฒนาอย่างยั่งยืน : กลไกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน และสิทธิหลักประกัน” ( International Conference on Creditors’/Debtors’ Rights and Remedies “Sustainable Development : Introducing Private Trustees in Bankruptcy and Developing: Security Interests Regime” ) ณ ห้องกมลฤดี โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดี ได้จัดการประชุมระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 อย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางทางวิชาการ การแลกเปลี่ยน ความรู้ กฎหมาย และแนวปฏิบัติที่ดีเลิศ ในการบังคับคดีแพ่ง และคดีล้มละลาย ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจา ( สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ) เพื่อเป็นการสร้างเครือข่าย และความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง การประชุมครั้งนี้ มี 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน ทั้งหลักการ แนวความคิด มุมมอง และแนวโน้มสากล ตลอดจนประเด็นที่ท้าทาย และ สิทธิหลักประกันในหลักการพื้นฐานของกฎหมาย และแนวปฏิบัติที่ดีเลิศ การประชุมครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนในการพัฒนากระบวนการบังคับคดีล้มละลาย ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การนำแนวคิดเรื่องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน ของประเทศต่างๆ มาเป็นแนวทางในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน) ต่อไป นอกจากนี้ในส่วนของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งอยู่ระหว่างคณะทำงานศึกษาและยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันทั้งนึ้ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิในหลักประกัน พ.ศ. .... เสร็จแล้ว และกำหนดภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งจะได้เสนอตามลำดับต่อไป ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อันจะเอื้อต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันส่งผลต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ความเชื่อมั่นในการลงทุน ตามกรอบการจัดอันดับความยาก - ง่ายในการประกอบธุรกิจ (EODB)ของธนาคารโลก สำหรับในปีหน้ากรมบังคับคดีได้กำหนดหัวข้อในการประชุมระหว่างประเทศ ในหัวข้อ “กระบวนการบังคับคดีทางแพ่งภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี” โดยเน้นถึงการดำเนินงานที่สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้นต่อไป