วันนี้ (3 พฤษภาคม 2561) เวลา 10.30 น. กระทรวงยุติธรรม กรมบังคับคดีจัดประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “หลักประกันความยุติธรรมด้านความปลอดภัยของข้อมูล” ในหัวข้ออภิปรายที่ 2 “ความท้าทายของหลักประกันข้อมูลทางเศรษฐกิจ” โดยผู้อภิปรายประกอบด้วย นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี นางพิมลรัตน์ วรรธนะหทัย ผู้พิพากษาอาวุโสประจำศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และสมาชิกสภาวิชาการของเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ นายอภินันท์ สุนทรนันท์ ผู้อำนวยการผู้บริหารสายประสานการร้องเรียนและการเปิดเผยข้อมูลกับหน่วยงานทางการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) Wilbert van den Donk ประธานสมาคมวิชาชีพแห่งเจ้าพนักงานบังคับคดีประเทศเนเธอร์แลนด์ Martin Leyshon ประธานสมาคมศาลสูงของเจ้าพนักงานบังคับคดีประเทศอังกฤษและเวลล์ Carlos Calvo ประธานสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีประเทศลักเซมเบริก์ และ Elin Villipus เจ้าพนักงานบังคับคดีประเทศเอสโตเนีย ภายในงานการประชุมคองเกรสนานาชาติสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 - 4 พฤษภาคม 2561 ณ ห้อง World Ballroom ABC ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า กรมบังคับคดีทำหน้าที่บังคับคดีแพ่งและคดีล้มละลาย ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีแพ่งจะทำหน้าที่แยกออกจากการเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในส่วนของการบังคับคดีแพ่ง เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในการสืบหาทรัพย์ของลูกหนี้ และจึงมายื่นเรื่องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดหรืออายัด แต่ในการทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ล้มละลายให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งจำเป็นต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ล้มละลาย ดังนั้น เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายล้มละลายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กรมบังคับคดีได้ทำการเชื่อมโยงข้อมูลกับนายทะเบียนทรัพย์สิน แก้ไขกฎหมาย และมีหนังสือแจ้งไปยังสถาบันการเงิน และมีกานำเทคโนโลยีและใช้ BiG DATA มาวิเคราะห์ข้อมูลตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เห็นว่า การทำหน้าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นสหวิชาชีพ ที่สำคัญแม้ว่าจะมีบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่ที่สำคัญคือ ต้องทำงานโดยยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส มีมาตรฐานวิชาชีพ เข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่อง ทำงานเชิงรุก และคิดไปข้างหน้า มีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในการนี้ กรมบังคับคดีได้มีการจัดตั้ง “สถาบันพัฒนาการบังคับคดี” (Legal Execution Professional Academy : LEPA ) เพื่อพัฒนาวิชาชีพบังคับคดี