กรมบังคับคดีร่วมกับทีมวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว“การศึกษาผลกระทบด้านการผลักดันทรัพย์สินต่อระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาองค์กรความรู้ ด้านการบังคับคดีในระดับอาเซียน”

7/12/2560
กรมบังคับคดีร่วมกับทีมวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว“การศึกษาผลกระทบด้านการผลักดันทรัพย์สินต่อระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาองค์กรความรู้ ด้านการบังคับคดีในระดับอาเซียน”

วันนี้ (7 ธันวาคม 2560) เวลา 13.30 น. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกับรองศาสตราจารย์ ดร.ชโยดม สรรพศรี นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทีมวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงผลการศึกษาผลกระทบด้านการผลักดันทรัพย์สินต่อระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการบังคับคดีในระดับอาเซียน ซึ่งมีนางสาวรัตนาวดี สมบูรณ์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมบังคับคดี และสื่อมวลชน เข้าร่วมแถลงข่าว ณ ห้องปทุมวัน ชั้น 2 โรงแรมเอเชียกรุงเทพ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า กรมบังคับคดีได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยผลกระทบด้านการผลักดันทรัพย์สินต่อระบบเศรษฐกิจไทย ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเกณฑ์ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพในการผลักดันทรัพย์สิน (efficiency enforcement index) ของไทย อันเป็นการศึกษาประสิทธิภาพการผลักดันทรัพย์สินต่อระบบเศรษฐกิจไทย รวมถึงศึกษามูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของไทย จากการผลักดันทรัพย์สินที่ทำให้เกิดการคืนเงินแก่เจ้าหนี้ ตลอดจนเพื่อศึกษาการนำทรัพย์สินที่ถูกผลักดันกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (free up asset) สำหรับผลการวิเคราะห์เชิงปริมาณ พบว่า การดำเนินงานผลักดันทรัพย์ผ่านระบบประมูลขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี นอกจากจะรักษาความมั่นคงให้แก่ระบบการเงินแล้ว ยังสามารถสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ จากการนำทรัพย์ที่ถูกยึดไว้กลับมาใช้ใหม่ (free up asset) โดยหากมูลค่าการขายทอดตลาดทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ของมูลค่าการขายทอดตลาดแล้ว เศรษฐกิจไทยโดยรวมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.589 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาตลาด โดยในปี พ.ศ. 2558 กรมบังคับคดีสามารถผลักดันทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13 ของมูลค่าการขายทอดตลาดในปีก่อน กรมบังคับคดีสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ระบบเศรษฐกิจไทยได้ถึง 10,110 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการวิจัย พบว่า กระบวนการขายทอดตลาด ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องมาจากการที่กรมบังคับคดีได้มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบการบริหารสมัยใหม่มาปรับใช้ในกระบวนการบังคับคดี รองศาสตราจารย์ ดร.ชโยดม สรรพศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะผู้วิจัยได้นำผลที่ได้จากการวิจัยมาเป็นหลักฐานสำหรับการตรวจสอบและวิเคราะห์ ด้วยวิธีการเชิงคุณภาพ เพื่อปรับปรุงกระบวนการขายทอดตลาดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผลการวิเคราะห์พบว่า สาระสำคัญของการปรับปรุงกระบวนการขายทอดตลาดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เกิดจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบการบริหารสมัยใหม่มาปรับใช้ในกระบวนการมากยิ่งขึ้น ซึ่งคณะวิจัยฯได้ให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้ ด้านการพัฒนาบุคลากรให้สามารถประเมินราคาทรัพย์ให้มีความใกล้เคียงกับราคา ด้านการบริหารจัดการข้อมูล ด้านพัฒนาระบบสารสนเทศในรูปแบบดิจิตอล ด้านระบบการประมูล ปรับปรุงรูปแบบการประมูลให้มีความหลากหลายเหมาะสมกับประเภททรัพย์ และด้านการจัดทำบัญชี ควรจัดจ้างเจ้าหน้าที่เชิงเทคนิคจากภายนอกและกำหนดให้มีกรอบระยะเวลาดำเนินการเสร็จสิ้นที่แน่นอน

อัลบั้มรูปภาพ