กรมบังคับคดีจัดประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยกลไกการฟื้นฟูกิจการ : แนวปฏิบัติเพื่อการฟื้นตัวทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

9/7/2568
กรมบังคับคดีจัดประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยกลไกการฟื้นฟูกิจการ : แนวปฏิบัติเพื่อการฟื้นตัวทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

 วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยกลไกการฟื้นฟูกิจการ : แนวทางปฏิบัติเพื่อการฟื้นตัวทางธุรกิจอย่างยั่งยืน (International Conference on Corporate Reorganization Mechanism : Best Practices for Sustainable Business Recovery) โดยนางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และนายเสกสรร สุขแสง อธิบดีกรมบังคับคดี เป็นผู้กล่าวรายงาน การประชุมในครั้งนี้ ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดี ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) โดยได้รับเกียรติจากผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ และประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีของประเทศไทย เข้าร่วมจำนวน 500 คน ในการนี้พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ว่า ในโลกยุคปัจจุบันที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ความผันผวนทางการเงิน และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระดับโลก กระบวนการยุติธรรม รวมถึงกรมบังคับคดีที่เป็นระบบย่อยของกระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม สะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อเป็นสังคมที่มีความสงบสุขที่รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ประชาชน ดังนั้น การฟื้นฟูกิจการจึงมิใช่เพียงเครื่องมือทางกฎหมายสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงบุคคลธรรมดา ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีของประชาคมระหว่างประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของแนวทาง “การให้โอกาส” แทน “การลงโทษ” และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติล้มละลายฉบับใหม่ร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของระบบกฎหมายไทย โดยเน้นการปฏิรูปแนวทางฟื้นฟูฐานะของลูกหนี้ ให้สามารถเริ่มต้นใหม่ได้อย่างสุจริตและมีศักยภาพ การประชุมในปีนี้ได้มีการนำเสนอและอภิปรายแบบกลุ่ม 7 หัวข้อ ดังนี้ หัวข้อที่ 1 การนำเสนอ “การขับเคลื่อนกฎหมายฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” หัวข้อที่ 2 การนำเสนอ “บทบาทของสถาบันการเงินในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ” หัวข้อที่ 3 การอภิปรายแบบกลุ่ม “การปรับโครงสร้างธุรกิจของ SME กลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในบริบทประเทศภูมิภาคอาเซียน” หัวข้อที่ 4 การนำเสนอ “บทบาทของศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ สู่ความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ” หัวข้อที่ 5 การนำเสนอ “บทบาทสำคัญของผู้เชี่ยวชาญด้านล้มละลายในการฟื้นฟูกิจการ” หัวข้อที่ 6 การนําเสนอ “การฟื้นฟูกิจการที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ พยากรณ์ผลลัพธ์ของการฟื้นฟูกิจการ” และหัวข้อที่ 7 การอภิปรายแบบกลุ่ม “ความท้าทายและแนวโน้มในอนาคตของกระบวนการฟื้นฟูกิจการ” ทั้งนี้ กรมบังคับคดีจะได้รวบรวมความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติของแต่ละประเทศไปศึกษา วิเคราะห์ เพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระบบการบังคับคดีล้มละลาย และระบบกฎหมายฟื้นฟูกิจการ ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพต่อไป

อัลบั้มรูปภาพ